นางเยาวรัตน์ พลานุสนธิ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเครื่องหนังไทย เปิดเผยว่า กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้จัดละครและผู้สร้างภาพยนตร์ของไทย ในการนำสินค้าเครื่องหนังและแฟชั่นไทยเข้าไปประกอบฉาก เพื่อโปรโมทสินค้าไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศในแถบอาเซียน เพื่อเพิ่มช่องทางในการโปรโมทสินค้าไทยในระดับโลกให้มากขึ้น
"ขณะนี้ผู้ประกอบการเครื่องหนังทั้งหมดของไทยมีประมาณ 2,000-3,000 ราย แต่มีการสร้างแบรนด์ไม่ถึง 100 ราย จำนวนดังกล่าวสามารถออกไปตั้งร้านจำหน่ายในต่างประเทศเพียงกว่า 10 ราย โดยประเทศหลักๆ ที่เข้าไปตั้งร้านคือ จีน พม่า อิตาลี ฮอลแลนด์ และสหรัฐอเมริกา" นางเยาวรัตน์ กล่าว
นางเยาวรัตน์ กล่าวว่า ฝีมือการออกแบบเครื่องหนังของไทยมีคุณภาพสูงมาก ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถสร้างแบรนด์ระดับโลกได้ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องของเงินลงทุน เพราะการสร้างแบรนด์ไทยให้โด่งดังระดับโลกจะต้องออกไปตั้งร้านจำหน่ายในย่านการค้าชื่อดังในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังซื้อสูง จะต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่ละแห่งไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการไทยแม้จะมีฝีมือแต่เติบโตได้ยาก ดังนั้น ภาครัฐควรจัดโครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อออกไปลงทุนตั้งร้านค้าในต่างประเทศ หากภาครัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ภายใน 5 ปี จะเห็นแบรนด์ของไทยยกระดับขึ้นสู่แบรนด์ชั้นนำของโลกแน่นอน
"นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง เนื่องจากแรงงานที่จบการศึกษาชั้นสูง ส่วนใหญ่จะเป็นด้านการออกแบบ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะปฏิเสธการทำงานในสายการผลิต ทำให้ขาดแคลนแรงงาน สายผลิตที่มีทักษะสูง เพราะฉะนั้นทางภาครัฐควรสนับสนุนการผลิตแรงงานทักษะฝีมือชั้นสูง เข้ามาป้อนในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง และแฟชั่นต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากสินค้าไทยถือเป็นสินค้ากลุ่มที่มีคุณภาพ ลูกค้าชาวต่างประเทศให้การยอมรับอย่างมาก ต่างจากสินค้าประเทศอื่นที่มีราคาต่ำกว่า แต่ก็มีคุณภาพที่ต่ำกว่าของสินค้าไทยเช่นกัน" นางเยาวรัตน์ กล่าว
แหล่งที่มา : มติชน - http://www.matichon.co.th