//

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กนอ. ตั้ง 2 นิคมอุตฯ ใหม่ "หนองคาย" และ "เชียงของ"

นิคมใหม่ใน จ.หนองคาย-อ.เชียงของ จ.เชียงราย คาดสร้างเงิน 1.1แสนล้าน สร้างงาน2.5หมื่นคน พร้อมรองรับกระแสขยายลงทุนชายแดน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ กนอ.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ กนอ. ร่วมกับเอกชนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่ง คือ นิคมอุตฯ หนองคาย และนิคมอุตฯ เชียงของ ในรูปแบบเอกชนเป็นผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม และรองรับการค้า การลงทุนแนวชายแดนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพื้นที่ 2 โครงการ มี 3,422 ไร่ คาดว่า ทำให้เกิดการลงทุน 110,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 25,000 คน

สำหรับนิคมอุตฯ หนองคาย พื้นที่ 2,960 ไร่ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ดำเนินงานโดย บริษัท นาคา คลีนเพาเวอร์ จำกัด ทำเลที่ตั้งใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลัก พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี 34 กิโลเมตร สถานีรถไฟนาทา 13 กิโลเมตร และมีระบบถนนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นได้อย่างสะดวก คาดว่า จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 97,000 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 22,000 คน มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตฯ แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร อุตฯอาหารและเครื่องดื่ม อุตฯประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ อุตฯ โลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในหนองคายเพิ่มขึ้น และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับจังหวัด และรองรับการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ

ส่วนนิคมอุตฯ เชียงของ พื้นที่ 460 ไร่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ดำเนินงานโดย บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะทำให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ต่อพื้นที่ตามแนวชายแดนจังหวัดเชียงราย และอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ ที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นได้สะดวก ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงราย 60 กิโลเมตร ท่าอากาศยานบ่อแก้ว สปป.ลาว 8 กิโลเมตร และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ - ห้วยทราย13 กิโลเมตร ซึ่งเป็นนิคมอุต ฯ บริการโลจิสติกส์แห่งแรกของไทยที่กำหนดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ไว้อย่างครบวงจร และคาดว่า การพัฒนานิคมอุตฯ จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า13,464 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 30,000 คน

"บริษัทผู้พัฒนาทั้ง 2 ราย มีประสบการณ์และความสามารถทางด้านธุรกิจในการบริหารและจัดการทั้งด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การบริการจัดการด้านโลจิสติกส์ และมีแนวคิดการพัฒนานิคมอุตฯ เชิงนิเวศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการ อีกทั้งมีความรู้ และประสบการณ์ ที่คาดว่าจะพัฒนาโครงการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 2 แห่งจะได้รับการสนับสนุนจาก กนอ. ดังนี้ การสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรพื้นที่ 500 ตารางเมตร ในวงเงินไม่เกิน 10ล้านบาท ยกเว้นค่ากำกับบริการ 2 ปี โดยให้ชำระบริการในปีที่ 5 เป็นต้นไป พร้อมทั้งสนับสนุนในเรื่องการประชาสัมพันธ์โครงการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจาก กนอ."

แหล่งที่มา: เดลินิวส์ - http://www.dailynews.co.th

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม