//

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ปี 2558 ไทยยังครองแชมป์ผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 1 อาเซียน

สถาบันยานยนต์ชี้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยกำลังพัฒนาสินค้ายานยนต์ที่ ประหยัดพลังงาน มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองแนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์โลก พร้อมแสดงความเชื่อมั่นไทยสามารถผลิตถึงเป้า 3 ล้านคัน และครองแชมป์ผู้ผลิตยานยนต์อันดับหนึ่งอาเซียนหลังเปิดเออีซี ปี 2558

ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันยานยนต์ ดร.อรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของอาเซียน เพราะตลอดห่วงโซ่อุปทานของการผลิตรถยนต์อยู่ในเมืองไทยทั้งหมด จากข้อมูลปี 2554 พบว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ในกลุ่ม 100 อันดับแรกของโลกเกินครึ่ง ให้ความไว้วางใจและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต”

ในปี 2555 สินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ และอะไหล่ยานยนต์ สามารถนำรายได้เข้าประเทศกว่า 4 แสนล้านบาท มูลค่าส่งออกเฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,547.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 376,423 ล้านบาท ตัวเลขคาดการณ์กำลังการผลิตรถยนต์ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม คาดว่าจะสูงถึง 625,246 คัน ขณะที่ยอดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 10

ดร.อรรถวิทย์เสริมว่าภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2555-2559 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันยานยนต์นั้น มีเนื้อหาครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเลิศทั้งในระดับอาเซียน และระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2558 ที่การเปิดเสรีอาเซียนเสร็จสมบูรณ์นั้น ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ป้อนตลาดได้ถึง 3 ล้านคัน ที่สำคัญ การลงนามความร่วมมือภายใต้กรอบเออีซี จะนำมาซึ่งการลดอุปสรรคทาการค้าและกำแพงภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้ายานยนต์ในอาเซียนโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คู่แข่งสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถอีโคคาร์เพื่อ ตอบสนองแนวโน้มยานยนต์ของโลก ขณะที่มาเลเซียก็มีนโยบายผลิตรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถไฮบริด รถใช้พลังงานไฟฟ้า เช่นกัน

“การรวมตัวเออีซีนั้น ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย เนื่องจากต้องพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการใช้พลังงานทดแทน เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล รวมถึงยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อน รวมถึงการพัฒนาลดน้ำหนักรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์”

ดร.อรรถวิท กล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือในการจัดงานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง 2557 หรือ TAPA 2014 ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่เป้าหมายการผลิต 3 ล้านคัน รวมถึงเป็นฮับยานยนต์สีเขียวระดับโลก

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม