กนอ.เผยเอกชนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผ่านเข้ารอบ 13 โครงการ จาก 28 โครงการ ชงบอร์ดพิจารณาภายในกันยายนนี้ จัดลำดับให้สิทธิประโยชน์ กรณีมีพื้นที่ซ้ำซ้อน พร้อมเสนอให้เปิดเชิญชวนรอบที่ 2 หลังพื้นที่จัดตั้งนิคมฯไม่เข้าเป้า ภาคอีสานยื่นมาไม่ครบ 8 จังหวัด
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กนอ.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีทั่วประเทศ นิคมอุตสาหกรรมบริหารด้านโลจิสติกส์อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม อุบลราชธานี สกลนคร มุกดาหาร และหนองคาย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2556 โดยมีผู้สนใจยื่นแบบคำขอเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมฯดังกล่าวมาจำนวนทั้งสิ้น 28 โครงการ แยกเป็นนิคมฯเอสเอ็มอี 18 โครงการ นิคมฯเชียงของ 4 โครงการและนิคมฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงการนั้น
จากการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจาณาคัดเลือกพื้นที่ ได้สรุปผลออกมาแล้วว่า โครงการที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นและมีแผนธุรกิจพบว่ามีนิคมฯที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ และมาตรการสนับสนุนในการจัดตั้งนิคมฯตามที่กนอ.ประกาศไว้มีจำนวน 13 โครงการ แยกเป็น นิคมฯเอสเอ็มอี 6 โครงการนิคมฯเชียงของ 2 โครงการและนิคมฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 โครงการ(ดูตารางประกอบ)
ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกอีก 15 โครงการ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนด้านรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนด้านที่ดิน ความพร้อมด้านการเงิน ความไม่ชัดเจนของลูกค้า บางโครงการตั้งราคาขายที่สูงเกินจริง เป็นต้น
"ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)กนอ.ในเดือนกันยายนนี้ จะมีการเสนอให้บอร์ดรับทราบเพื่อพิจารณาว่ารายใดจะได้รับสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนตามที่ประกาศไว้หรือไม่ เพราะในบางพื้นที่มีการเสนอจัดตั้งมาซ้ำซ้อนกัน เช่น นิคมฯเชียงของเสนอมา 2 โครงการ ขณะที่กนอ.ต้องการโครงการเดียว เป็นต้นหรือ กรณีของนิคมฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนิคมฯเอสเอ็มอี มีการเสนอมาซ้ำซ้อนในจังหวัดเดียวกัน ก็ต้องมาพิจารณาลำดับผู้ที่มีความพร้อมมากกว่า"
นอกจากนี้ยังขอความเห็นให้พิจารณาการประกาศเชิญชวนเอกชนในรอบที่ 2 ต่อไป เนื่องจากนิคมฯเอสเอ็มอีทางกนอ.ต้องการให้มีการจัดตั้งขึ้นทั้ง 4 ภาค แต่ที่ผ่านเกณฑ์พิจารณามีเพียงภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ยังขาดภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งไม่มีผู้สนใจยื่นเสนอจัดตั้งขึ้นมา รวมถึงการจัดตั้งนิคมฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่มีผู้เสนอมาครบทั้ง 8 จังหวัด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้เอกชนที่เสนอจัดตั้งนิคมฯ ขึ้นมา แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ประกอบการรับทราบไปบ้างแล้ว ก็ยังแสดงความสนใจที่จะจัดตั้งนิคมฯขึ้นมา แม้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ก็ตาม อาจจะด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปทำให้จัดเตรียมความพร้อมไม่ทัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปกติการจัดตั้งนิคมแต่ละแห่งเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลาในการพัฒนา 2-4 ปี แต่การประกาศเชิญชวนครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการเกิดความตื่นตัวที่จะรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 เพราะเห็นโอกาสในการรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ
ทั้งนี้ หลังจากบอร์ดพิจารณาอนุมัติแล้ว ทางผู้ประกอบการจะต้องไปทำข้อตกลง และทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ พร้อมออกแบบเรื่องการก่อสร้างภายในระยะเวลา 1 ปี และดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2558-2559
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,876 วันที่ 8 - 11 กันยายน พ.ศ. 2556